ไมเกรน (Migraine)

               

             ไมเกรนเป็นโรคที่ก่อให้เกิดอาการปวดศีรษะเรื้อรังชนิดหนึ่ง ที่มีความแตกต่างจากโรคปวดศีรษะทั่วไป อย่างคาดไม่ถึง ปัจจุบันสาเหตุของไมเกรนยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด มีอยู่หลาย ทฤษฎีที่เชื่อว่า อาจจะเกิดความผิดปกติชั่วคราว ของระดับสารเคมีในสมองการสื่อกระแสประสาทในสมอง หรือการทำงานที่ผิดปกติไปของหลอดเลือดสมองชั่วคราว เชื่อว่าผู้ป่วยเกิดการตอบสนองต่อสภาพแวดล้อมภายนอก เช่น อากาศ กลิ่น เสียง ความเครียด หรือสิ่งกระตุ้นจากอาหาร ไปทำให้หลอดเลือดอักเสบและเกิดการขยายตัว ทำให้มีอาการปวดศรีษะข้างเดียวเป็นพักๆ และจากข้อมูลทางระบาดวิทยา ปัจจุบันเชื่อว่าไมเกรนสามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ แต่จะเกิดอาการหรือไม่ ขึ้นอยู่กับปัจจัยทั้งภายในและภายนอกร่างกายที่มากระทบ



อาการไมเกรน

 - มีอาการปวดหัวครึ่งซีก หรือปวดที่เบ้าหรือกระบอกตา อาการแต่ละครั้งอาจมีการปวดสลับระหว่างซีกซ้ายและขวาได้ หรือบางรายอาจปวดพร้อมกันทั้งสองด้าน ลักษณะปวดเป็นแบบตุ้บๆ ปวดแบบรำคาญ อาจทรมานจนทำงานไม่ได้
- มีอาการปวดประมาณ 4 ชั่วโมงขึ้นไป บางรายอาการหนักอาจจะปวดถึง 3-4 วัน และอาการไม่ดีขึ้นถ้าไม่ได้รับประทานยา
- มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ไม่อยากรับประทานอาหาร
- มีผลกับระบบสายตา อาจทำให้ตาพร่ามัว เห็นภาพเพี้ยนไปจากความเป็นจริง อาจเห็นภาพซ้อนหรือเห็นแสงแบบระยิบระยับ และมีอาการชาร่วมด้วย
- อาการปวดหัวจะเพิ่มมากขึ้นเมื่อมีการขยับศรีษะ ไอ หรือมีการกระแทก
- มีปัญหาเกี่ยวกับระบบการทรงตัว ประคองตัวไม่ได้


สาเหตุเป็นไมเกรน

1. สภาวะความเครียด หรือวิตกกังวล เป็นปัจจัยและสาเหตุของไมเกรนง่ายที่สุด
2. ปัญหาเกี่ยวกับเรื่องการนอน เช่น นอนมาก หรือนอนน้อยเกินไป หรือนอนในสภาพที่ไม่สบายตัว เช่น อากาศร้อน หรือแสงจ้ามากเกินไป
3. การขาดคาเฟอีน บางคนจะมีอาการคือถ้าวันใดไม่ได้กินกาแฟจะมีอาการไมเกรน แต่อาการจะหายไปเมื่อเลิก หรือไม่ได้กินบ่อยจนเป็นกิจวัตร 
4. สูบบุหรี่ ดื่มเหล้า โดยเฉพาะการดืมเหล้าอาจทำให้มีอาการไมเกรนได้ง่าย
5. มีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน เช่น การกินยาคุมกำเนิด หรือปวดเป็นลักษณะเตือนก่อนการมีประจำเดือน
6. รับประทานอาหารที่มีสารไทรามีนเป็นส่วนประกอบ เช่น กล้วยหอม เบคอน ช็อคโกแล็ต ชาและกาแฟ
7. สภาวะแวดล้อม เช่น เสียงดังเกินไป กลิ่นเหม็นเกินไป ร้อนเกินไป แสงไฟจ้าเกินไปเป็นต้น 


         


การรักษาไมเกรน   
 

1. การควบคุมปัจจัยเสี่ยง โดยการหลีกเลี่ยงปัจจัยที่เสี่ยงที่จะทำให้เกิดอาการไมเกรน โดยสาเหตุในการเกิดแต่ละคนจะแตกต่างกันออกไป เช่น ความเครียด กลิ่นฉุน ความร้อน แสงที่จ้าเกินไป การพักผ่อนที่ไม่เพียงพอ  ดังนั้นผู้ป่วยทุกคนควรมีการสังเกตตนเองหรือจดบันทึกว่าอะไรเป็นตัวกระตุ้น ให้เกิดไมเกรนเพื่อที่จะได้หลีกเลี่ยงได้อย่างเหมาะสม
2. การรักษาไมเกรนด้วยยา  แบ่งออกเป็น 2 แบบคือ กินยาเพื่อรักษา และกินเพื่อป้องกัน 

  กินเพื่อรักษา

         กรณี ที่เป็นไม่บ่อยและมีอาการไม่รุนแรง ให้รับประทานยาประเภทพาราเซตามอลหรือแอสไพริน อาการจะบรรเทาลงภายใน 1-2 ชั่วโมง กรณีที่รุนแรงอาจต้องรับประทานทั้งสองแบบพร้อมกันและควรปรึกษาแพทย์

กินเพื่อป้องกัน
         คนที่เป็นบ่อย มากกว่า 3 ครั้งต่อเดือน แพทย์จะแนะนำให้รับประทานยากลุ่มที่ลดความถี่และความรุนแรงในการเกิดไมเกรน จนกว่าจะควบคุมอาการได้ ซึ่งยาทุกชนิดอาจมีผลข้างเคียงกับร่างกาย เช่น ความดันโลหิต การเต้นของหัวใจ คลื่นไส้อาเจียน  ดังนั้นผู้ป่วยทุกท่านต้องปรึกษาแพทย์ก่อนรับประทาน เพื่อความปลอดภัยต่อตัวท่านเอง

3. การลดอาการปวดไมเกรนด้วยตนเอง
 - ใช้น้ำแข็งหรือ Cool Pack ประคบจุดที่มีการปวด เพื่อช่วยให้เส้นเลือดหดตัวลงและบรรเทาอาการปวด
-  พักผ่อนในห้องที่มืดและเงียบ ถ้าอากาศเย็นสบายจะช่วยได้มาก
-  อาบน้ำ สระผม จะช่วยได้เมื่อมีอาการปวดแบบเล็กน้อย
-  คอยสังเกตปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคไมเกรนของตนเอง อาการ ระยะเวลา จากนั้นให้ทำการบันทึกเพื่อหาวิธีควบคุมต่อไป
-  งดอาหารที่มีสารกระตุ้นให้เกิดไมเกรน จำพวก ช็อคโกแล็ต กล้วยหอม เหล้า ผงชูรส ชา และกาแฟ  เป็นต้น
-  พยายามพักผ่อนให้พอเพียง หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายอย่างหักโหม


       
       แม้ไมเกรนจะเป็นโรคที่เรื้อรัง แต่สามารถควบคุมให้โรคสงบลงได้ หากรู้จักรับมือกับอาการที่เกิดขึ้นนะครับ




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้